“ผ้ายกเมืองนคร” มรดกลํ้าค่าคู่แผ่นดิน

1527
views
มรดกลํ้าค่าคู่แผ่นดิน

การทอผ้ายกมีหลักฐานว่า ชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้แบบอย่างมาจากแขกเมืองไทยบุรี กล่าวคือสมัยที่เมืองไทยบุรีเป็นกบฎ   เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช คือ เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ยกกองทัพไปปราบปราม ขากลับได้กวาดต้อนครอบครัวเชลยเข้ามายังเมืองนครศรีธรรมราชเป็นจำนวนมาก ได้พวกช่างมาไว้หลายพวก เช่น ช่างหล่อโลหะประสม ช่างทอง ช่างเงิน และช่างทอผ้า สำหรับพวกช่างทอผ้าให้อยู่บริเวณทางด้านตะวันตกของตัวเมือง   คือในตำบลมะม่วงสองต้น   อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และตำบลนาสาร อำเภอพระพรหมในปัจจุบัน ช่างพวกนี้ได้ถ่ายทอดความรู้แก่ช่างพื้นเมืองที่มีอยู่ก่อน จึงทำให้การทอผ้าในสมัยนั้นพัฒนาขึ้นกว่าสมัยก่อน   ๆ มาก

ผ้ายกเมืองนคร

มีผู้สันนิษฐานว่า “ผ้ายกเมืองนครนี้ยังสงสัยกันอยู่ว่าเป็นผ้ายกที่ทางเมืองนครศรีธรรมราชทอขึ้นเองหรือสั่งซื้อมาจากต่างประเทศเข้ามา” โดยอ้างพงศาวดารว่า   “เจ้าพระยานคร (หนู) สั่งซื้อผ้ายกทองจากต่างประเทศเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จ   ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย” นั้นคงจะเป็นการเข้าใจผิด   ทั้งนี้เพราะเจ้าพระยานคร (หนู) เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยกรุงธนบุรี   และถูกถอดยศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและยังได้ถูกนำไปกักตัวไว้   ณ กรุงเทพฯ จนถึงอสัญกรรม เจ้าพระยานคร(หนู) จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะสั่งซื้อผ้ายกทองจากต่างประเทศนำเอาเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยเพราะเป็นบุคคลต่างยุคสมัยกัน

ผ้ายกเมืองนคร

จากหลักฐานจดหมายเหตุ ร.๒ ที่กล่าวมา ย่อมแสดงให้เห็นว่าเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้นได้มีการผลิตหรือทอผ้ายกทองแล้ว ฝีมือการทอผ้าของเมืองนครศรีธรรมราชคงจะมีชื่อเสียงมากในสมัยนั้นจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ดังเพลงกล่อมเด็กบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า

ไปเมืองคอนเหอ ไปซื้อผ้าลายทองสลับ

ซื้อมาทั้งพับ สลับทองห่างห่าง

หยิบนุ่งหยิบห่ม ให้สมขุนนาง

สลับทองห่าง ห่าง ทุกหมู่ขุนนางนุ่งเหอ

ผ้ายกบ้านมะม่วงปลายแขน

จากข้อความในเพลงกล่อมเด็กบทนี้ สื่อให้ทราบทันทีว่าที่เมืองนครศรีธรรมราชได้มีการทอผ้าเป็นล่ำเป็นสันเป็นเวลานานแล้ว ทั้งยังมีผ้าที่มีคุณภาพดีที่หายากจากแหล่งอื่นคือผ้ายกทองอันเป็นผ้าที่ใช้สำหรับบุคคลชั้นสูงด้วย นอกจากนั้นในหนังสือวรรณคดีไทยเรื่องขุนช้างขุนแผนก็ยังได้กล่าวถึงผ้ายกนครไว้เช่นเดียวกัน อันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าในอดีตนครศรีธรรมราชคงมีฝีมือทางการทอผ้ามากและเป็นผ้ายกที่จัดได้ว่าเป็นแบบฉบับของตัวเองเป็นฝีมือของช่างชั้นสูงแห่งหนึ่งอย่างแน่นอน

ฝีมือการทอผ้าของชาวนคร จัดได้ว่ามีชื่อเสียงมานาน เป็นที่รู้จักกันดีทั้งในกรุงเทพฯ   และทั่วภาคใต้จนคนทั่วไปเรียกกันว่า “ผ้ายกเมืองนคร” สมัยก่อนชาวนครนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนกันทั้งหญิงและชายพวกข้าราชการกรมเมือง ข้าราชการศาล   และราษฎรนุ่งกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะเจ้านายผู้หญิงในเมืองนครศรีธรรมราช นุ่งผ้ายกจีบเวลาออกรับแขกเมืองหรือไปร่วมพิธีทำบุญที่วัดอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้แล้วในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ผู้ที่เข้าพิธีถือน้ำจะต้องนุ่งผ้ายกขาวเชิงทองหรือผ้าสัมมะรสด้วย

ผ้ายกเมืองนคร

ส่วนผ้ายกทองนั้นมักใช้เฉพาะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรั้วในวัง หรือเจ้าพระยานครส่งเข้ามาถวายเจ้านายในกรุงเทพฯ ส่วนผ้ายกธรรมดาก็ใช้กันโดยทั่วไปในพิธีแต่งงาน   ไปวัดหรือไปงานมงคลต่าง ๆ เช่น บวชนาค และโกนจุก เป็นต้น ผู้หญิงมักนุ่งผ้ายก   ดอกหน้านาง หรือผ้าเก็บนัด ผู้ชายก็นุ่งผ้าหางกระรอก

ผ้ายกบ้านมะม่วงปลายแขน

ชาวเมืองนครศรีธรรมราชเรียกเครื่องมือทอผ้ารุ่นเก่าว่า”เครื่องทอหูก”   หรือ “เก”   เหมือนกับท้องถิ่นอื่นโดยทั่วไปเกมี 2 ชนิด   คือถ้าสามารถยกเคลื่อนที่ได้เรียกว่า “เกยก”   ถ้าเป็นเครื่องทอผ้าที่ใช้เสาปักดินยึดอยู่กับที่เคลื่อนย้ายไม่ได้เรียกว่า “เกฝัง” ทั้งสองชนิดมักใช้ไม้เนื้อแข็ง ชาวบ้านที่มีอาชีพทอผ้ามักจะสร้างเกประจำไว้ตามใต้ถุนบ้านแทบทั้งสิ้น ผ้ายกนครทอได้หลายชนิด แต่ละชนิดจะยกดอกงดงามอันเป็นแบบฉบับของตนเองอย่างนี้เรียกว่า   “ผ้าตา”   ซึ่งด้านชายผ้าทอเป็นแถบทองลายเงิน นอกจากผ้ายกแล้วผ้าทอที่รู้จักกันดีของเมืองนครศรีธรรมราช   คือผ้าเก้ากี่ ผ้าราชวัตร ผ้าหางกระรอก ผ้าเก็บชาย ผ้าเก็บดอก ฯลฯ

การทอผ้าหรือการทอหูกที่เมืองนครศรีธรรมราช   แต่เดิมนั้นมีอยู่ในทุกท้องถิ่น แหล่งทอผ้าหรือทอหูกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ   บ้านนาสาร บ้านมะม่วงขาว บ้านมะม่วงสองต้นและในตัวเมือง   ในปัจจุบันหาดูได้ยากเสียแล้ว แม้ว่าจะพอมีการทอกันอยู่บ้างก็โดยการสนับสนุนส่งเสริมของกรมราชทัณฑ์ และกรมพัฒนาชุมชน   กระทรวงมหาดไทย แต่ก็ยังขาดการปรับปรุงให้ทันสมัย ความปาณีตสวยงามก็สู้ของเก่าไม่ได้และก็มีราคาแพง   ตลาดจำหน่ายจึงแคบลง   ยิ่งกว่านั้นคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจคนจะหันไปประกอบอาชีพอื่นที่มีรายได้ดีกว่าเสียหมด บ้านทอผ้าในตัวเมืองนครศรีธรรมราชที่ยังทออยู่ก็มีที่บ้าน   นางวิเชียร ศรีวัชรินทร์ บ้านท่าม้าในซอย ณ นคร ๓   ซึ่งเป็นบริเวณบ้านเก่าของคุณพิณ ณ นคร ภรรยาพระศิริธรรมบริรักษ์ (ถัด ณ นคร)   ธิดาของพระนาวิชิตสรไกร (กล่อม) แต่เดิมที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งโรงละครชาตรีประจำเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อครั้งโบราณบริเวณบ้านกลุ่มนี้มีชื่อเสียงในการทอผ้ามาก แต่ก็ได้มีการเลิกราไปขณะนี้ถึงจะมีการทออยู่บ้างแต่คุณภาพไม่ดีเท่าของเดิมเพราะทุนรอนน้อย ด้วยเหตุนี้ผ้าทอชนิดต่าง   ๆ และผ้ายกนคร คงจะมีแต่เพียงชื่อเหลืออยู่ในประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน

ผ้าทอเมืองนคร ผ้าเป็นประเพณีตศิลปอย่างหนึ่ง คุณค่าความงามของผ้าอยู่ที่การใช้สี   ลวดลาย วัสดุที่ใช้ทอ ตลอดจนความปาณีตของฝีมือ ผ้าพื้นเมืองของคนไทยมีทั้งผ้าฝ้าย   ผ้ายก ผ้าปัก ฯลฯ   ผ้ามีบทบาทสำคัญมากทางวัฒนธรรมการแต่งกายของคนไทยมาแต่โบราณ ผ้าบางประเภทยังยังบ่งบอกถึงฐานะและชนชั้นในสังคมไทยอีกด้วย

ผ้ายกบ้านมะม่วงปลายแขน

ผ้าพื้นเมืองโบราณของนครศรีธรรมราชเท่าที่พอจะนำมาศึกษาหาความรู้ได้นั้นจะมีอยู่ 2 แหล่งด้วยกันแหล่งแรกเป็นผ้าโบราณที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานโพธิ์ลังกา ภายในวัดมหาธาตุวรมหาวิหารและอีกแหล่งหนึ่งจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เสื้อผ้าที่จัดแสดงอยู่ที่นี้เป็นเสื้อผ้าของโบราณที่เจ้าพระยาดินทร์เดชานุชิต ตระกูล ณ   นคร เคยใช้ และเป็นสมบัติของตระกูลที่มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราชจัดแสดงไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้

การทอผ้าแต่เดิมคงจะมาจากวังของเจ้าพระยานคร แล้วแพร่หลายต่อมาในภายหลัง   การทอผ้ายก ผ้าดอกสอดไหนในครั้งนั้นถือเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่เป็นความลับมีรู้อยู่เฉพาะคนบางคนเท่านั้น ผู้อื่นจะรู้ได้ก็โดยการลักจำเอาไปเท่านั้น ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้อาชีพการทอผ้าพื้นเมืองนครศรีธรรมราช จึงไม่แพร่หลายเท่าที่ควรและเลิกราไปในที่สุดรายแล้วรายเล่า

ผ้ายกบ้านมะม่วงปลายแขน

ผ้ายกผ้าทอของนครในอดีตผลิตขึ้นมาเป็นของใช้ เช่น ผ้านุ่ง   ผ้าห่ม ผ้าไหม ฯลฯ   มีอยู่เฉพาะที่เป็นของใช้ของข้าราชการผู้ใหญ่และกรมการเมืองเท่านั้น ผู้อื่นไม่มีโอกาสใช้เพราะไม่มีขายในท้องตลาด   ถือว่าเป็นของสูง   ช่างผู้ผลิตผ้าก็เป็นคนของเจ้านายเลี้ยงไว้

ถ้าจะเปรียบเทียบฝีมือกันระหว่างผ้าทอโบราณกับผ้าทอในปัจจุบัน นับว่าปัจจุบันยังห่างชั้นกันมาก   ไม่ว่าจะเป็นสีของผ้า ลวดลายที่ผูกเก็บขึ้นมาการทอ ความกว้างยาว   ตลอดจนแนวคิดที่ละเอียดอ่อน ผสมกลมกลืนกันอย่างประณีตบนผืนผ้าผืนแล้วผืนเล่า   ทำให้ผ้ามีน้ำหนักทั้งทางศาสตร์ และศิลปถือเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของคนนครในอดีตที่ก้าวหน้าในเชิงประณีตศิลปอย่างแท้จริง

 กลุ่มผ้ายกบ้านมะม่วงปลายแขน

 กลุ่มผ้ายกบ้านมะม่วงปลายแขน

ผ้ายกเป็นผ้าทอแบบโบราณ มากมายหลากหลายรูปแบบ  อทิ ผ้าชิ้นเพื่อการตัดเย็บชุด ผ้าพันคอ ผ้าเช็ดหน้า  สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่  ติดต่อ  :  กลุ่มผ้ายกบ้านมะม่วงปลายแขน
เบอร์โทร  : 075354012  ที่อยู่: 39 หมู่ 8 ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง  นครศรีธรรมราช 80000